กรรมการบริหาร รวกท แสดงความชื่นชมและหารือการสนับสนุนให้ความร่วมมือ กับโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โครงการพัฒนาการเด็กปฐมวัย (ICAP)

กรรมการบริหาร รวกท แสดงความชื่นชมและหารือการสนับสนุนให้ความร่วมมือ กับโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โครงการพัฒนาการเด็กปฐมวัย (ICAP)

“พัฒนาการของประชากรไทยวัย 0-5 ปีมีความสำคัญที่สุด แต่กำลังถูกละเลยหรือเปล่าครับ”

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 กรรมการบริหาร รวกท ได้มีโอกาสไปแสดงความชื่นชมและหารือการสนับสนุนให้ความร่วมมือ กับโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิม ๆ ที่จัดทำโดย อบต. ให้เป็นแบบ Active Learning ตามแนวทาง HighScope โดย นพ. สันติ ลาภเบญจกุล ผอ.รพ.ท่าวุ้งและผู้บริหารโครงการพัฒนาการเด็กปฐมวัย (ICAP) ได้เริ่มทำที่อ.ท่าวุ้ง โดยมี อ.จริยา พัฒนาการ เด็กจาก รามา และทีมไปช่วยคิด แล้วต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และคุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ เผยแพร่ฝึกอบรมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่อื่นๆ อีก 60 กว่าศูนย์ ประสบความสำเร็จอย่างดี ช่วยให้เด็กในพื้นที่ต่างๆ ที่ส่วนหนึ่งถูกพ่อแม่ที่ไปทำงานต่างถิ่นฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู พบว่าเด็กที่ได้รับการดูแลในโครงการนี้ มีอารมณ์ ความมั่นใจในตัวเอง ระเบียบวินัย และการกล้าแสดงออกที่ดี จึงอยากชวน พวกเรา หมอเด็กช่วยกันคิด ว่าเราจะช่วยการสนับสนุนโครงการแบบนี้ หรือจะทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อช่วยพัฒนาเด็กในวัยสำคัญนี้ได้อย่างไรบ้างครับ

อาจารย์อดิศร์สุดา ได้ไปช่วยสรุปแนวทาง HighScope ว่าเป็นกระบวนการพัฒนาเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้เด็กมีการใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน ผ่านการเล่นที่มีชีวิตชีวาเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กลงมือกระทำด้วยตนเองตามหลักสูตรการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ยึดหลักตามแนวคิด HighScope/RIECE Thailand โดยมีวงล้อการเรียนรู้ 5 ส่วน

  1. การเรียนรู้แบบลงมือกระทำเพื่อเด็กมีประสบการณ์สำคัญ, มีความคิดริเริ่ม, มีพัฒนาการสมวัย, มีทักษะสมอง EF, มีทักษะศตวรรษที่21, มีความมั่นคงมั่นใจ, เชื่อมั่นในศักยภาพของตน
  2. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-เด็ก จิตวิทยาและวินัยเชิงบวก ส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านกลยุทธ์ปฏิสัมพันธ์
  3. การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ สื่อ พื้นที่ การจัดเก็บ
  4. การจัดการตนเองในกิจวัตรประจำวัน เพื่อเด็กสามารถกำกับตนเอง วางแผน ลงมือทำ ทบทวนตนเอง ผ่านกิจกรรมกลุ่มใหญ่/กลุ่มย่อย ให้โอกาสครูและเด็กเรียนรู้ร่วมกัน
  5. มีการประเมิน พัฒนาการเด็ก,แผนการจัดประสบการณ์,คณะทำงาน ผ่านการบันทึกประจำวัน

เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อการมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือระหว่าง ครู – หมอ (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข) – พ่อแม่ (ผู้ปกครอง) เพื่อการพัฒนาเด็กร่วมกัน สร้างระบบ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ครู” ร่วมปรึกษาในประเด็นต่างๆ เช่น การบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้ การประเมินฯลฯ อย่างต่อเนื่อง

โดยรูปแบบการดำเนินงานเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อันจะสร้างความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศควรจะเริ่มจากรากฐานที่สำคัญที่สุดโดยลงทุนอย่างคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับในอนาคต นั่นคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเริ่มต้นจากเด็กปฐมวัยที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต