เพื่อให้ประเทศไทยและนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเอเชียได้มีการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือด้านการศึกษา เทคโนโลยี วัฒนธรรม และเพื่อเป็นการเผยแพร่การแพทย์ของประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงดำริให้มีการเปิดรับแพทย์ต่างชาติที่จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับการฝึกอบรมเพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
ชื่อวุฒิบัตร
เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมและผ่านการประเมินครบถ้วนตามหลักสูตร วุฒิการศึกษาที่จะได้รับ คือ
“วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์
(สำหรับแพทย์ต่างประเทศ)”
“Diploma of the Thai Board of Pediatrics (for foreign doctor)”
หลักสูตรฝึกอบรมและระยะเวลาฝึกอบรม
เป็นไปตาม หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
สาขากุมารเวชศาสตร์ ของ รวกท.
เกณฑ์คุณสมบัติของผู้สมัคร
1.สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากประเทศต้นสังกัด
2.มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของประเทศนั้น ๆ (ที่ยังไม่หมดอายุ)
3.ผลการสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ
TOEFL (paper based) ไม่ต่ำกว่า 500 หรือ equivalent score จากการสอบ TOEFL แบบอื่นๆ
หรือ IELT ไม่ต่ำกว่า 5
4.สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ดีพอสมควร
เงื่อนไขการสมัคร
1.มีหน่วยงานต้นสังกัดในประเทศนั้นๆ และมีเงื่อนไขให้กลับไปปฏิบัติงานยังประเทศของตนหลังจบการศึกษา
2.ได้รับทุนในการฝึกอบรม
หลักฐานในการยื่นใบสมัคร
1.1 บัตรประชาชนหรือเอกสารเทียบเท่า (foreign personal identification)
1.2 หนังสือเดินทางต่างชาติ (foreign passport)
1.3 เอกสารแสดงผลการศึกษาตลอดหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (transcript)
1.4 เอกสารแสดงผลการสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ
1.5 จดหมายรับรองความรู้ความสามารถของผู้สมัคร จำนวน 2 ท่าน ขึ้นไป (2 letters of recommendation)
1.6 เอกสารยืนยันจากต้นสังกัด และเอกสารยืนยันทุนที่จะได้รับตลอดการฝึกอบรม
วิธีการสมัคร
-
ผู้สมัครยื่นหลักฐานและดำเนินการสมัครผ่านสถาบันฝึกอบรมโดยตรง โดยให้สมัครล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ก่อนกำหนดเปิดการฝึกอบรมในปีถัดไป
วิธีการคัดเลือก
1.เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกของสถาบันที่จะรับมาฝึกอบรม (training institution)
2.หากผ่านการคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรม ให้สถาบันดำเนินการแจ้งราชวิทยาลัย
หมายเหตุ ให้นับรวมอยู่ในจำนวนการฝึกอบรมที่ไม่เกินศักยภาพในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของสถาบันฝึกอบรมนั้น ๆ